คำสอนพ่อ : คนทำงานได้จริง ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ

29 ต.ค. 2565

คำสอนพ่อ: คนทำงานได้จริงไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ

ตลอดระยะเวลาที่ทรงงานกว่า 70 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่นอกจากจะทรงด้วยทศพิธราชธรรมแล้ว ทรงยังเป็นพระราชาที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต และการทำงานแก่พสกนิกรของพระองค์และนานาประเทศอีกด้วย ผู้คนต่างประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ และมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ซึ่งแนวคิดหรือหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความน่าสนใจที่สมควรนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตการทำงานเป็นอย่างยิ่ง ดั่งพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2530

"เมื่อมีโอกาสและมีงานให้ทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยันซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น"

ด้วยพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดิฉันได้น้อมนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต รวมถึงการดำเนินธุรกิจครอบครัว หลังจากที่ต้องผันตัวเองจากการเป็นอาจารย์ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน “พ่อ” (คุณธีรวัฒน์ ธัญลักษณ์ภาคย์) ผู้เป็นเสาหลักของธุรกิจครอบครัวได้ล้มป่วยกะทันหันจนต้องเข้ารับการรักษาตัว ทำให้ดิฉันในฐานะลูกสาวคนโตต้องเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระทั้งหมดแบบไม่ทันตั้งตัว นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิต และเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสไม่ใช่น้อยสำหรับผู้หญิงวัยเพียง 29 ปี ที่ไม่เคยผ่านงานด้านการบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก่อนเลยในชีวิต

และจากการที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มี Passion ในการให้บริการ รู้สึกอิ่มใจที่ได้ให้ความรู้กับคนอื่น พอเข้าสู่การบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้มองหา Passion ใหม่ ๆ เพื่อเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง และเมื่อดิฉันสร้าง Passion ในการทำงานอสังหาริมทรัพย์ได้แล้ว ก็มุ่งมั่นที่จะทำให้ดีที่สุด จนวันหนึ่งสามารถนำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ และขยายธุรกิจต่อเนื่องจากบ้านสู่คอนโด และอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ อีกหลายรูปแบบ

สิ่งหนึ่งที่ ดิฉันเชื่อว่า การมีหลักคิดที่ดีเท่านั้นที่จะทำให้บริษัทมั่งคงและยั่งยืนได้ เปรียบเสมือนอาคารบ้านเรือนที่ต้องการ “เสาเอก” เป็นหลักของโครงสร้างอย่างไร บริษัทของเราก็ย่อมต้องการ “หลักคิด” เสาเอกไม่ต่างกัน และหลักคิดที่ว่านั้น คือ การคืนกลับสู่สังคม ทำให้เสนาเติบโตอย่างยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน