ร้อน – เย็น กินเป็น ลืมป่วย

31 ต.ค. 2565

NOTE:

ฤทธิ์ร้อนและฤทธิ์เย็นคืออะไร? เรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่า ฤทธิ์ร้อนกับฤทธิ์เย็น ถ้าให้เปรียบง่ายๆก็เหมือน หยิน-หยาง นั่นแหละ โดยทั้งสองฤทธิ์จะต้องมีความสมดุลกันในร่างของเรา มิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดสารพัดโรคอันเนื่องมาจากความไม่สมดุลของทั้งคู่ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆเลย เช่น หากร่างกายของเรามีสภาวะร้อนเกิน ร่างกายก็อาจจะเตือนเราด้วยการแสดงอาการ หิวน้ำ อ่อนเพลีย เป็นสิวฝ้า สะอึก มือเท้าร้อน หรือแม้กระทั่งผมร่วง ผมหงอกก่อนไว แค่นั้นยังไม่พอนะ

บางครั้งการกินโดยไม่ยั้งคิดอาจนำไปสู่โรคต่างๆได้ หากร่างกายของเรายังคงสภาวะร้อนเกินแบบนั้นเป็นเวลานาน เช่น โรคหัวใจ โรคเกาต์ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอักเสบ ฯลฯ ซึ่งคนที่ร่างกายมีสภาวะร้อนเกินเป็นทุนเดิมเนี่ย หากทานอาหารฤทธิ์เย็นเข้าไป ก็จะบรรเทาความร้อนได้ ในทางกลับกัน หากคนที่ร่างกายข้างในเย็นเกิน ก็ต้องทานฤทธิ์ร้อนเข้าไปปรับสมดุล เพื่อเจือจางความเย็นในร่างกาย

ซึ่งสภาวะร้อนเกินไปนี้ ก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เราบริโภคอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนในปริมานมากจนเกินไป เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ที่มีไขมันสูง อาหารที่ปรุงรสจัด อาหารที่ใส่ผงชูรส ของพวกนี้ถือเป็นอาหารที่มีความร้อนสูงอยู่แล้ว (ใครที่ทานเนื้อสัตว์มากๆเป็นประจำควรระวังนะคะ ไม่ใช่ว่าให้งดเลยซะทีเดียว แต่ควรลดปริมานลงบ้าง แล้วเพิ่มเติมด้วยผักผลไม้ค่ะ)

ในทางกลับกัน ร่างกายของเราก็สามารถมีสภาวะเย็นเกินได้เช่นกัน หากเราบริโภคอาหารที่มีฤทธิ์เย็นเกินพอดี โดยร่างกายของเราจะมีอาการเตือนออกมาเช่น หนาวสั่น น้ำมูกไหล หน้าซีด มือเท้าเย็น ตะคริว นิ้วล็อค ถึงขนาดเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอกด้านขวา สัญญาณเหล่านี้เป็นการเตือนจากร่างกายของเราว่า ข้างในเริ่มเย็นเกินแล้วนะ

 

แต่เดี๋ยวก่อน.. ใช่ว่าผัก-ผลไม้ทุกชนิดจะมีฤทธิ์เย็นเสมอไปนะ เพราะผักและผลไม้แต่ละชนิดก็มีฤทธิ์ร้อน-เย็นแตกต่างกันไป เรามาดูกันดีกว่าว่าสิ่งที่เราทานกันอยูู่ทุกวันนั้น สิ่งไหนมีฤทธิ์ร้อนหรือฤทธิ์เย็นกันบ้าง

ประเภทผักฤทธิ์ร้อน

 

ยกตัวอย่างผักฤทธิ์ร้อน ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง บีทรูท กะหล่ำ แครอท สาหร่าย ฟังทองแก่ ผักโขม ถัวฝักยาว ฯลฯ

ประเภทผักฤทธิ์เย็น

ผักฤทธิ์เย็นมีค่อนข้างเยอะ สามารถหาทานได้ง่าย อย่างเช่น กวางตุ้ง ฟักทองอ่อน (ถ้าแก่จะกลายเป็นฤทธิ์ร้อนนะ) ผักกาดขาว บร็อคโคลี ถั่วงอก ข้าวโพด มะเขือเทศ ผักบุ้ง ฯลฯ

ประเภทผลไม้ฤทธิ์ร้อน

ผลไม้ที่เราทานกันอยู่ทุกวัน นอกจากจะมีรสชาติเปรีี้ยว หวาน อร่อยแล้ว ฤทธิ์ของมันยังมีผลต่อร่างกายเรามากไม่แพ้ผักหรือสมุนไพรเลยนะ ยกตัวอย่างผลไม้ฤทธิ์ร้อน เช่น ขนุน ฝรั่ง เงาะ ทุเรียน มะละกอสุก มะม่วงสุก กล้วยหอม (ถ้าเป็นกล้วยน้ำว้า จะเป็นฤทธิ์เย็น แปลกไหมล่ะ) ทับทิมแดง ฯลฯ

ประเภทผลไม้ฤทธิ์เย็น

 

 

ส่วนผลไม้ฤทธิ์เย็นที่แนะนำให้รับประทานเป็นประจำ ได้แก่ แตงโม แคนตาลูป แอปเปิ้ล มังคุด สัปปะรด สตรอเบอรรี่ ชมพู่ ฯลฯ

ประเภทสมุนไพรฤทธิ์ร้อน
สมุนไพร อย่างที่เราทราบกันดีว่ามีฤทธิ์ในการช่วยรักษาโรคต่างๆ แต่ถ้าหากเราเลือกสมุนไพรทีี่มีฤทธิ์ทับซ้อนกับอาการ เช่นถ้าเรามีอาการน้ำมูกไหล แล้วรับประทานสมุนไพรฤทธิ์เย็นเพิ่มเข้าไป ก็อาจจะทำให้ยิ่งมีอาการทวีคูณขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นนอกจากสรรพคุณที่ดีแล้ว เราก็ควรเลือกฤทธิ์ของสมุนไพรให้ถูกต้องด้วยนะ

 

ตัวอย่างสมุนไพรฤทธิ์ร้อน ได้แก่ ขิง ข่า เครื่องเทศ กระชาย กระเทียม พริกทุกชนิด ต้นหอม หอมแดง ใบกะเพรา ฯลฯ

ประเภทสมุนไพรฤทธิ์เย็น

 

ส่วนสมุนไพรฤทธิ์เย็นที่มีสรรพคุณในการต้านโรคที่มาจากพิษร้อนก็มีอยู่เยอะแยะมากมาย แถมราคาไม่แพงด้วย อย่างเช่น ใบอ่อมแซ่บ(ใบเบญจรงค์) ใบรางจืด ว่านหางจรเข้ มะรุม หมอน้อย เหงือกปลาหมอ ใบย่านาง โสมไทย ฯลฯ

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนก็คงหันมาสังเกตตัวเองกันบ้างแล้วใช่มั้ยว่าตัวเรามีอาการผิดปกติอะไรที่เป็นสัญญาณว่าเรามีสภาวะร้อนเกินหรือเย็นเกินบ้าง ถ้าหากร่างกายเรามีอาการเปลี่ยนแปลงแปลกๆขึ้นมา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเกิดจากสภาวะร่างกายที่ร้อนเกิน เพราะส่วนมากคนไทยนิยมทานเนื้อสัตว์และแป้งมากกว่าผักผลไม้ วิธีการแก้เบื้องต้นง่ายๆก็คือการลดการบริโภคอาหารฤทธิ์ร้อนและหันมารับประทานผักและผลไม้ฤทธื์เย็นมากขึ้น

แต่ที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ เราควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ทั้งอาหารฤทธิ์ร้อนและฤทธิ์เย็นในปริมานที่สมดุลพอดี เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่แข็งแรงและห่างไกลอาการเจ็บป่วยค่ะ 

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube