สังคมยืดอายุเกษียณ

04 พ.ย. 2565

สังคมสูงวัยเป็นเทรนด์สำคัญที่กำลังกำหนดอนาคตโลกในทศวรรษนี้และในอีกหลายสิบปีข้างหน้าเนื่องจากว่าทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทยกำลังมีสัดส่วนประชากรสูงวัยคืออายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในสัดส่วนที่สูงขึ้นทุกปี

ประเทศญี่ปุ่นเองเป็นประเทศที่เผชิญกับสังคมผู้สูงวัยมาอย่างยาวนานและญี่ปุ่นเองก็กำลังจะมีคนแก่มากขึ้นและประชากรมีแนวโน้มลดลง เรื่องนี้ส่งผลอย่างมากต่อสภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นเนื่องจากกระทบทั้งกำลังซื้อและภาระในด้านสวัสดิการที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น ฉะนั้นแล้วการพยายามหาทางออกในระยะยาวจึงเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับประเทศญี่ปุ่นในตอนนี้ ล่าสุดดิฉันได้เห็นประเด็นข่าวน่าสนใจจากสื่อไต้หวันที่รายงานข่าวเมื่อช่วงวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมาว่า จังหวัดคานางาวะ เค็น ที่ตั้งอยู่ในเมืองยะมะโตะของญี่ปุ่นได้ประกาศนิยามใหม่ของคนสูงวัยเป็นอายุ 75 ปีขึ้นไป ซึ่งนั่นหมายความว่าคนที่อยู่ในเกณฑ์ผู้สูงอายุปกติคือ 65 ปีกลายเป็นคนหนุ่มสาวขึ้นทันที 10 ปี

มองเผินๆ เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากเรามองในภาพรวมที่มีการประยุกต์ใช้ในวงกว้างทั้งสังคมญี่ปุ่น การเปลี่ยนเกณฑ์นับอายุผู้สูงวัยในทางปฏิบัตินั้นส่งผลใหญ่หลวงมากเพราะมันจะเลื่อนอายุการเริ่มรับเงินบำนาญของคนจาก 65 ปีเป็น 75 ปี ขณะเดียวกันอายุการทำงานของคนจะยาวขึ้นถึง 10 ปี ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นเองมีกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นโดยฉับพลันซึ่งตรงนี้จะย้อนกลับไปเพิ่มภาษีให้ทางการญี่ปุ่นด้วย ถือเป็นการลดภาระด้านงบสวัสดิการทั้งในมิติขอการลดเวลาการจ่ายเงินและเพิ่มฐานรายได้ในเวลาเดียวกันด้วยเนื่องจากว่าคนสูงอายุนั้นมีมิติด้านรายได้ซ่อนอยู่ในตัวเอง โดยมุมของผู้สูงอายุนั้นถือว่าเป็นผู้ที่ไม่มีรายได้ต่างจากคนที่ยังไม่สูงอายุซึ่งถือว่ามีรายได้อยู่

สังคมสูงวัยในแง่ของรายได้จึงสำคัญมากกับทุกประเทศเพราะมันจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคส่วนอื่นๆทั้งเรื่องการทำงาน การจัดการด้านสาธารณสุข การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และบริการด้านการเงิน ส่วนในแง่ของคนที่ยังอยู่ในวัยทำงานเองจะมีการออมที่ยาวนานขึ้น รายได้ที่นานขึ้นก็จะส่งผลต่อการรับบริการด้านการดูแลสุขภาพทั้งสวัสดิการจากภาครัฐเองหรือการซื้อประกันสุขภาพกับเอกชนที่มีการคำนวณเบี้ยอิงกับฐานรายได้และอายุเกษียณ ขณะเดียวกันหากเราเป็นคนที่เกษียณอายุแล้วรูปแบบของสวัสดิการด้านสุขภาพก็จะเป็นอีกรูปแบบ ยกตัวอย่างประเทศไทยที่มีระบบประกันสังคมรองรับคนทำงานและโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่รัฐเป็นผู้จัดสรรให้ผู้มีรายได้น้อย

นอกจากเรื่องระบบการประกันสุขภาพที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว การให้บริการการเงินอย่างสินเชื่อระยะยาวโดยเฉพาะบ้านก็จะมีการปรับเปลี่ยนไปด้วย การยืดอายุการเกษียณออกไปย่อมส่งผลให้คนมีเวลาผ่อนบ้านนานขึ้น มีเวลาออมมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนวัย 40-45 ปีมีโอกาสกู้บ้านได้มากขึ้นด้วย การยืดอายุเกษียณจึงเป็นการขยายโอกาสในแง่ของฐานสินเชื่อให้ครอบคลุมคนวัยกลางคนด้วย

ในส่วนของประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญปัญหาคนสูงวัยมากขึ้นเช่นเดียวกับญี่ปุ่น การยืดอายุเกษียณจึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและทำได้ทันที โดยรัฐเองสามารถเป็นผู้นำด้านนี้ได้ ตัวเลขล่าสุดจากธปท.ระบุว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ภาครัฐมีการจ้างงานราว 1.675 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 4.4% ของกำลังแรงงาน 38 ล้านคน อย่างไรก็ตามการยืดอายุเกษียณจะได้ผลดีหากเอกชนเดินตามรัฐด้วย โดยรัฐควรทำให้เอกชนเชื่อมั่นได้ว่าคนในวัย 60-70 ปียังมีศักยภาพทำงานได้อยู่ โดยรัฐควรมุ่งเน้นไปในด้านของการเสริมสร้างสุขภาพและทักษะการทำงานให้คนวัยนี้สามารถทำงานได้ ขณะเดียวกันรัฐอาจออกมาตรการทางภาษีจูงใจให้เอกชนจ้างคนทำงานนานขึ้นด้วย

โดยสรุปแล้วปัญหาสังคมสูงวัยเป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทายทุกประเทศในอนาคต ประเทศไทยเองสามารถดำเนินนโยบายคู่ขนานทั้งส่งเสริมให้คนมีบุตรเพิ่มไปพร้อมๆกับการยืดอายุเกษียณแบบญี่ปุ่น ซึ่งมาตรการยืดอายุเกษียณสามารถเห็นผลได้ทันที โดยรัฐสามารถเป็นผู้นำเรื่องนี้ให้เอกชนเดินตามพร้อมกับมาตรการเสริมศักยภาพคนสูงวัยเพื่อจูงใจให้เอกชนหันมาจ้างงานคนกลุ่มนี้มากขึ้นในระยะยาว

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube
Drkessara: http://bit.ly/drkessara