อนาคตร้านหนังสือ

04 พ.ย. 2565

ก่อนอื่นต้องขอกล่าวสวัสดีปีใหม่กับคุณผู้อ่านทุกท่านค่ะ ขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านพบเจอแต่สิ่งดีๆในปีนี้และมีพลังฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆไปได้ด้วยดีค่ะ แม้จะเป็นช่วงหยุดยาวดิฉันก็มีโอกาสไปต่างประเทศและมีเรื่องดีๆมาร่วมแบ่งปันกับคุณผู้อ่านเช่นเคยค่ะ

ช่วงหยุดปีใหม่ที่ผ่านมาดิฉันมีโอกาสได้ไปที่ฮ่องกง และทุกครั้งที่ไปที่นั่นก็ต้องแวะที่ร้านหนังสือชื่อดังอย่าง Page One ซึ่งจำหน่ายหนังสือดีๆมากมายและอุปกรณ์เครื่องเขียนด้วย แต่ที่ต้องแปลกใจในปีนี้ก็คือ ในปีนี้ไม่ได้เจอร้าน Page One แล้ว จากการสอบถามคนในพื้นที่ก็ทราบว่าร้านนี้ได้ออกจากฮ่องกงไปหมดแล้ว หากเราดูแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะเห็นว่า ร้าน Page One เองก็ไม่สามารถต้านทานกระแสการเข้ามาของโลกดิจิตอลที่กำลังคุกคามร้านหนังสือดั้งเดิมได้ ผู้อ่านในยุคนี้หันไปเสพ content ในแบบออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกันการเข้ามาของยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ก็ทำให้ผู้คนมีทางเลือกในการซื้อหนังสือได้มากขึ้นทั้งการสั่งเล่มจริงผ่านหน้าร้านของ Amazon หรือดาวน์โหลด e-book ผ่านเว็บได้เลย

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ก็เปลี่ยนไปด้วยจากแต่เดิมจะเข้าร้านหนังสือเพื่อเลือกดูและซื้อหนังสือที่ตัวเองชอบกลับบ้าน กลายเป็นผู้ซื้อนิยมที่จะเดินร้านหนังสือเพื่อมาดูหนังสือเฉยๆ เมื่อเจอหนังสือที่ตัวเองชอบก็จะไปสั่งซื้อทาง Amazon แทน ผลก็คือ Amazon สามารถขายหนังสือได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนหน้าร้านจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ยิ่งส่งผลให้ร้านหนังสือเสียเปรียบในแง่ต้นทุนและช่องทางการจัดจำหน่ายมากขึ้น เราจึงเห็นปรากฏการณ์ร้านหนังสือทยอยปิดตัวลงต่อเนื่องเพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้และต้องเผชิญกับยอดขายที่ลดลงด้วยในระยะยาว

อย่างไรก็ตามดิฉันไม่เชื่อว่าร้านหนังสือจะล้มหายตายจากจนไม่มีเหลือเลย ทั้งนี้เนื่องจากคนในรุ่นตั้งแต่ Gen X ขึ้นไปยังคงชื่นชอบที่จะอ่านหนังสือเป็นเล่มจริงอยู่ คนรุ่นนี้ยังคุ้นชินกับการเติบโตมากับการอ่านหนังสือที่เป็นเล่มและมีรสนิยมในการหาอ่านงานเขียนที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ต่างจากคนรุ่นใหม่ที่โตมากับอินเตอร์เน็ตและนิยมอ่าน content ออนไลน์เป็นหลัก ดังนั้นแล้วในอนาคตธุรกิจร้านหนังสือน่าจะปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุลที่ร้านหนังสือจะมีการปรับเปลี่ยนไปหาลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น แทนที่จะมีการขายหนังสือเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้อ่านทุกประเภท หากจุดไหนมีร้านหนังสือมากเกินไปก็จะส่งผลให้ร้านแถบนั้นอยู่ไม่ได้และพากันปิดกิจการลง ร้านที่มีจุดขายที่ชัดเจนและมีกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่นก็จะกลายเป็นผู้อยู่รอดและเกิดภาวะผูกขาดตามธรรมชาติโดยเจ้าที่อยู่รอดไปเอง

โดยสรุปแล้วพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนจากการเข้าร้านหนังสือเพื่อซื้อหนังสือเล่มมาเป็นการซื้อออนไลน์มากขึ้นส่งผลให้ร้านหนังสือเสียเปรียบช่องทางออนไลน์เช่น Amazon ในระยะยาวจากภาระต้นทุนหน้าร้านที่สูงและยอดขายที่ลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามร้านหนังสือจะไม่ได้หายไปโดยสมบูรณ์ เพียงแต่จะมีการปรับตัวจากการทำตลาดเพื่อคนทุกกลุ่มมาสู่การเอาใจลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะด้านและยังชอบสะสมตัวเล่มอยู่ โดยลูกค้าที่ยังชื่นชอบสะสมตัวเล่มจะเป็นคนรุ่นเก่าตั้งแต่ Gen X ขึ้นไป ทำให้อนาคตเราจะเห็นร้านหนังสืออยู่แบบเฉพาะที่เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ มากกว่าอยู่ในจุดที่เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่เช่นในห้างหรือแถบใจกลางเมืองซึ่งจะมีปัญหาในด้านการใช้เงินลงทุนที่สูงกว่า

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube
Drkessara: http://bit.ly/drkessara