อะไรคือนวัตกรรม

05 พ.ย. 2565

ในแต่ละปีเรามักจะได้ยินคำสัญญา เสมือน Theme หลักของการทำธุรกิจในปีนั้นๆ สำหรับในปี 2561 นี้ เรามักจะได้ยินคำว่า นวัตกรรม กันบ่อยมาก ผู้ประกอบการในปีนี้มักจะพูดถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆออกสู่ตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วของผู้บริโภคและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งหากมองในมุมของผู้บริโภค นวัตกรรมมักจะหมายถึงการที่ผลิตภัณฑ์มีสิ่งใหม่เข้ามาแตกต่างไปจากเดิม ก่อให้เกิดประโยชน์หรือประสบการณ์ใช้งานใหม่ๆกับผู้บริโภค

 

 

แต่ในฐานะผู้ประกอบการ ดิฉันมองว่านวัตกรรมไม่ได้มีเพียงแค่มุมของลูกเล่นหรือประโยชน์ใช้สอยใหม่ๆที่เกิดกับตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่นวัตกรรมนั้นสามารถเกิดขึ้นในมุมของประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตตลอดกระบวนการ Supply Chain ที่ร่วมสร้างผลิตภัณฑ์นั้นได้เช่นกัน ซึ่งในมุมนี้คุณค่าของนวัตกรรมจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น เกิดการประหยัดต้นทุนและใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า นวัตกรรมในมุมนี้ยังส่งคุณค่าไปถึงมือผู้บริโภคที่จะได้รับสินค้าแบบเดิมในราคาที่ถูกลง ถึงมือเร็วขึ้น นวัตกรรมจึงมีทั้งมุมของอุปสงค์คือ การสร้างประสบการณ์หรือลูกเล่นใหม่ๆให้กับผู้ซื้อ และอุปทานที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพ ลดต้นทุนให้กับผู้ผลิต

อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรมนั่นคือ การมีนวัตกรรมเกิดขึ้นนั้นไม่ได้หมายความว่าสินค้าจะต้องแพงขึ้นตามไปด้วย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความชัดเจนในแง่ของกลุ่มเป้าหมายหรือ segment ของสินค้าที่ชัดเจน และพัฒนานวัตกรรมที่มุ่งตอบสนองความต้องการและยกระดับประสบการณ์ใช้งานของผลิตภัณฑ์กับลูกค้ากลุ่มนั้นๆ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่านวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นกลับกลายเป็นการเปลี่ยนกลุ่ม segment โดยไม่ได้ตั้งใจและเกิดปัญหาในแง่การสื่อสารคุณค่าผลิตภัณฑ์กับกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดได้ ยกตัวอย่างเรื่องสายการบินที่มีทั้งแบบตั๋วที่นั่งชั้นประหยัดและชั้นธุรกิจ ที่นั่งชั้นธุรกิจนั้นจะมีจุดต่างตรงที่การบริการที่เหนือระดับเหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง มีที่นั่งที่กว้างกว่าชั้นประหยัดและมีอาหารที่อร่อยกว่า ขณะที่ชั้นประหยัดนั้นเน้นกลุ่มผู้โดยสารที่มีกำลังซื้อเป็นตลาด mass ในราคาที่ถูกกว่า

หากวันหนึ่งสายการบินต้องการสร้างนวัตกรรมให้กับที่นั่งชั้นประหยัดด้วยการเพิ่มขนาดที่นั่งให้ใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มราคาที่นั่งชั้นประหยัดโดยมองว่า นวัตกรรมที่เพิ่มเข้ามานั้นเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้ากลุ่มนี้และควรที่จะเพิ่มราคาตาม feature ที่เข้ามา การทำเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมให้กับที่นั่งชั้นประหยัด แต่เป็นการเปลี่ยน segment การขายของสินค้าจากเดิมที่มุ่งสนองลูกค้ากลุ่มชั้นประหยัดไปสู่การให้บริการลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น ส่งผลให้การรับรู้ผลิตภัณฑ์ในสายตาของผู้บริโภคเปลี่ยนไป

โดยสรุปแล้ว การสร้างนวัตกรรมนั้นสามารถทำได้ทั้งจากการเพิ่มประสบการณ์และประโยชน์ด้านการใช้งานใหม่ๆให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันเราก็สามารถสร้างนวัตกรรมในกระบวนการผลิตสินค้าตลอด supply chain ได้ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถผลิตสินค้าแบบเดิมได้ในต้นทุนที่ต่ำลงและรวดเร็วขึ้น การสร้างนวัตกรรมที่ดีนั้นต้องมุ่งเพิ่มคุณค่าในผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้กับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยที่ผลิตภัณฑ์นั้นต้องไม่ราคาแพงขึ้นตาม feature ใหม่ๆที่เพิ่มเข้ามา เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อน segment ของผลิตภัณฑ์และสร้างความสับสนในแง่จุดยืนในตลาดของผลิตภัณฑ์ ฉะนั้นแล้วธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมทั้งในมุมของประสบการณ์การใช้งานและการเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่กัน

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube
Drkessara: http://bit.ly/drkessara