อำนาจที่พอดี

05 พ.ย. 2565

มีภาษิตฝรั่งประโยคหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าน่าสนใจและเป็นบทเรียนกับการประกอบธุรกิจยุคนี้ได้ดี ภาษิตนี้เป็นเชิงการเมืองโดยมีเนื้อความคือ Absolute Power Corrupts Absolutely แปลเป็นไทยก็คือ อำนาจที่เบ็ดเสร็จนำมาซึ่งการฉ้อฉลโดยสมบูรณ์ ข้อความดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่เมื่อยิ่งมีอำนาจมากขึ้น ก็จะยิ่งมีแรงจูงใจในการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อรับใช้ผลประโยชน์เฉพาะตนหรือเฉพาะกลุ่มมากขึ้น และหากเราย้อนดูประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา เมื่อคนเราถึงจุดสูงสุดที่ตนเองมีอำนาจล้นฟ้าแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สุดท้ายตัวเขาก็พบว่าทุกอย่างกลับล้มครืนลงมาอย่างง่ายดาย ทั้งหมดไม่ใช่คนรอบข้างหรือศัตรูภายนอกที่ไหน แต่เป็นเพราะตัวผู้ครองอำนาจเอง ตัวอย่างนี้มีให้เห็นมาแต่ในอดีตไม่ว่าจะเป็นสมัยจักรวรรดิโรมัน เจงกิสข่าน นโปเลียน หรือฮิตเลอร์ ทั้งหมดล้วนเป็นตัวอย่างที่ดีของบุคคลหรือองค์กรที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่สุดท้ายก็ล้มลงมาจากความอ่อนแอข้างใน
 

กรณีของฟ่าน ปิงปิงก็เป็นอีกตัวอย่างของบุคคลที่แม้ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ก็ทรงอิทธิพลและมีพลังในการชี้นำสังคมมาก โดยเธอเองได้ชื่อว่าเป็นดาราชื่อดังของจีนคนหนึ่งที่มีรายได้สูงระดับโลกและมีอนาคตไกล แต่สิ่งที่เธอกระทำออกมาในกรณีของการเลี่ยงภาษีที่ทำอย่างยาวนานนั้นสะท้อนถึงพฤติกรรมในเชิงที่ “ย่ามใจ” หรือ take it for grant ด้วยสถานภาพทางสังคมที่ทำให้เธอมีอำนาจต่อรองที่สูง อีกทั้งเธอเองก็มีแรงจูงใจและช่องทางที่จะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ ซึ่งเมื่อขาดการยับยั้งหรือสอบถามจากคนรอบข้าง ก็ทำให้สุดท้ายชะตากรรมของเธอเองไม่ต่างจากเทวดาตกสวรรค์ที่ต้องถูกจำคุกและเจอข้อหาอีกหลายคดีตามมา ทำให้เธอหมดอนาคตจากวงการบันเทิงแบบถาวร

 

บทเรียนเรื่องการฉ้อฉลจากอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้นเราสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารธุรกิจได้เป็นอย่างดีด้วย หากเราพิจารณาผังขององค์กรทั่วไปนั้นแน่นอนว่า ในระดับบนสุดของโครงสร้างองค์กรก็ย่อมมีผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาดเพียงแค่คนเดียวหรือไม่กี่คน การสร้างระบบสอบทานหรือถ่วงดุลที่ดีจะเป็นการลดแรงจูงใจและช่องทางต่างๆที่อาจนำไปสู่การกระทำที่ขาดจรรยาบรรณและสร้างความเสียหายต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆได้
 

ในมุมของผู้บริหารนั้นอาจมองว่า การมีขั้นตอนของการตรวจสอบถ่วงดุลต่างๆนั้นก่อให้เกิดต้นทุนด้านเวลาและขั้นตอนที่เกินจำเป็น ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง แต่หากพิจารณาประโยชน์ที่ได้นั้นกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสมในองค์กรนั้นจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหารเองที่จะมีเกราะคุ้มกันหากเกิดประเด็นปัญหาหรือข้อสงสัยบางอย่างต่อการตัดสินใจที่ผ่านมา รวมถึงองค์กรเองที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและโปร่งใสให้เกิดขึ้นในสายตาของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ การตัดสินใจที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นจากทุกฝ่ายและช่วยยับยั้งการตัดสินใจที่อาจผิดพลาดหรือมองประเด็นต่างๆอย่างไม่รอบด้านไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย
 

โดยสรุปแล้วการบริหารธุรกิจที่ยั่งยืนในระยะยาวควรสร้างระบบการให้อำนาจตัดสินใจควบคู่กับระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสมให้กับผู้บริหาร ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการตัดสินใจเกิดความโปร่งใส สามารถตอบข้อสงสัยจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ อีกทั้งเป็นตัวกรองที่จะช่วยป้องกันการตัดสินใจใดๆที่อาจส่งผลเสียต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆไม่ให้เกิดขึ้นได้ ระบบการถ่วงดุลที่ดีจึงช่วยปกป้องทุกฝ่ายทั้งผู้ตัดสินใจ องค์กร และสังคมส่วนรวม
 

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube
Drkessara: http://bit.ly/drkessara