Woman Empowerment

04 พ.ย. 2565

Note:

บทความโดย ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

ดิฉันพึ่งมีโอกาสไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดที่ APEC Business Advisory Council (ABAC) หรือสภาที่ปรึกษาธุรกิจของกลุ่ม APEC ค่ะ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่ะ โดย ABAC นั้นเป็นการรวมตัวกันของตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชนของประเทศสมาชิกกลุ่ม APEC โดยมีหน้าที่ให้คำแนะนำกับผู้นำชาติสมาชิกในประเด็นต่างที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและผลกระทบต่อภาคธุรกิจค่ะ โดยการประชุมที่กรุงเทพฯนั้นมีวาระสำคัญในเรื่องของ Woman Empowerment หรือการเพิ่มพลังและบทบาทสตรีค่ะ บทความในวันนี้จึงอยากจะแชร์มุมมองเรื่องนี้กับคุณผู้อ่านเพื่อให้เข้าใจถึงบทบาทของสตรีที่มีมากขึ้นในโลกทุกวันนี้ค่ะ

ทุกวันนี้หากเราสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว เราจะเห็นชัดค่ะว่านับวันเราจะเห็นผู้หญิงเก่งๆก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในทุกภาคส่วนของโลกมากขึ้น เราเห็นผู้หญิงขึ้นมามีบทบาทเป็นผู้นำในองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากขึ้นทั้งในตำแหน่งผู้นำประเทศ รัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงในส่วนราชการและบริษัทชั้นนำต่างๆค่ะบทบาทของผู้หญิงที่มีมากขึ้นในทุกวันนี้นั้นถึงกับมีคำเรียกเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นว่าเป็น “เศรษฐกิจของผู้หญิง” หรือ She-Economy เลยค่ะ โดยกุญแจสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ผู้หญิงก้าวข้ามข้อจำกัดทางสังคมต่างๆโดยเฉพาะเรื่องความเชื่อที่ผู้ชายเป็นเพศที่เป็นผู้นำและแข็งแกร่งกว่านั้นก็คือ ผู้หญิงมีความเชื่อที่ว่า “ทำได้ในสิ่งที่เชื่อว่าถูก” ค่ะ การมีความคิดเช่นนี้ช่วยผลักดันให้ผู้หญิงมีความกล้าที่จะแสดงออกและพิสูจน์ความสามารถในการเป็นผู้นำทางสังคมที่ดีไม่แพ้เหล่าสุภาพบุรุษค่ะ แต่การที่ผู้หญิงอย่างเราๆจะสามารถผลักดันตนเองไปสู่การพิสูจน์ความสามารถที่ไม่แพ้เพศชายนั้นก็มีปัจจัยสำคัญ 3 ประการเป็นส่วนประกอบเบื้องหลังค่ะ

 

ปัจจัยแรกเลยคือ ตัวเราเองค่ะ ผู้หญิงเราต้องเชื่อมั่นในศักยภาพตนเอง มีความเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำในสิ่งต่างๆที่ผู้ชายสามารถทำได้เช่นกันค่ะ ผู้หญิงเราก่อนจะไปพิสูจน์ตัวเองในเวทีใหญ่ได้เราจำเป็นต้องสร้างตัวเราเองให้มีความรู้ความสามารถที่เพียบพร้อม มีความโดดเด่น และเชื่อมั่นในศักยภาพที่เราสร้างขึ้นมาในตนเองค่ะ นั่นคือก่อนที่เราจะนำคนอื่นได้ เราต้องนำตัวเราเองให้ได้ก่อนค่ะ

ปัจจัยที่ 2 ที่ช่วยส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงก็คือ ปัจจัยจากคนรอบข้างหรือครอบครัวนั่นเองค่ะ ผู้หญิงที่สามารถเติบโตจนมีบทบาทนำในสังคมได้นั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าหากปราศจากการผลักดันส่งเสริมของครอบครัวแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายค่ะ เพราะพ่อแม่นั้นจะเป็นผู้ที่เลี้ยงดูและให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษา การทำกิจกรรมต่างๆ การฝึกทักษะทางสังคม และให้กำลังใจลูกๆค่ะ หากครอบครัวใดไม่มีความเชื่อเรื่องลูกสาวสามารถเป็นผู้หญิงเก่งและสามารถโตเป็นผู้นำได้ การสนับสนุนเพื่อผลักดันการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ก็จะจำกัดค่ะ ดังนั้นแม้ว่าผู้หญิงคนใดจะมีความเชื่อมั่นที่จะพัฒนาตนเองแต่หากครอบครัวไม่ช่วยสนับสนุนทั้งทางทรัพยากรและกำลังใจอย่างเต็มที่ก็ยากที่จะสามารถพัฒนาบทบาทความเป็นผู้นำในอนาคตได้ค่ะ

ปัจจัยสุดท้ายเลยคือเรื่องของนโยบายรัฐค่ะ ในภาพใหญ่ของสังคมหากนโยบายจากภาครัฐส่งเสริมเรื่องสิทธิสตรี การออกกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและบทบาทของสตรี ก็มีโอกาสที่ผู้หญิงในประเทศนั้นๆจะสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางวัฒนธรรมเข้ามามีบทบาทบริหารในองค์กรต่างๆได้ง่ายค่ะ นโยบายรัฐที่เอื้ออำนวยจะช่วยผลักดันให้ผู้หญิงสามารถแสดงความบทบาทได้เต็มที่ และสร้างแรงจูงใจหรือกรอบที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคเอกชนด้วยค่ะ กรณีของประเทศไทยนั้นเราเห็นสัญญาณของการส่งเสริมบทบาทสตรีที่ชัดเจนมากขึ้นนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2517 ที่เริ่มกล่าวถึงสิทธิสตรีแล้วค่ะ
 

โดยสรุปแล้วการเพิ่มพลังและบทบาทให้กับผู้หญิงในยุคใหม่นั้นจำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมใน 3 ระดับไปพร้อมๆกันค่ะ นั่นคือในระดับปัจเจกที่ผู้หญิงต้องกล้าลุกขึ้นมานำตัวเองไปสู่การเชื่อมั่นในศักยภาพที่เต็มเปี่ยมและสร้างขึ้นมาได้ ระดับครอบครัวที่พ่อแม่ต้องมีทัศนคติที่เป็นบวกและส่งเสริมการพัฒนาของบุตรสาวในครอบครัวอย่างเต็มที่ค่ะ และสุดท้ายในระดับนโยบายที่รัฐต้องช่วยออกกฎหมายและวางกรอบเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถแสดงบทบาทด้านต่างๆได้เต็มที่ไม่แพ้เพศชายค่ะ หากทำได้ทั้ง 3 ข้อเราก็จะเห็นสังคมที่มีความเท่าเทียมทางโอกาสและหลากหลายทางความคิดที่มากขึ้นจากการที่มีผู้หญิงมีบทบาทในระดับบริหารที่มากขึ้นค่ะ
 

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube
Drkessara: http://bit.ly/drkessara