บริหารสไตล์ทีมฟุตบอล

05 พ.ย. 2565

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดิฉันได้มีโอกาสอ่านข้อเขียนด้านการบริหารที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง งานเขียนชิ้นนี้บอกว่า ในบรรดาการบริหารทีมงานต่างๆนั้น การบริหารทีมฟุตบอลถือว่ามีความยากและท้าทายที่สุด ฉะนั้นการบริหารทีมฟุตบอลจึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษามาก เนื่องจากโครงสร้างของทีมฟุตบอลนั้นเต็มไปด้วยซุป’ตาร์มากมาย แต่ในเกมฟุตบอลหลายๆเกมเราจะพบว่า แม้ทีมจะมีซุป’ตาร์ดังเยอะก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเอาชนะได้เสมอไป ดังนั้นการเรียนรู้แนวคิดการบริหารทีมฟุตบอลจึงมีประโยชน์ในการนำมาปรับใช้กับการบริหารองค์กรที่มีคนเก่งๆมากมายมาทำงานร่วมกัน
 

ข้อคิดแรกที่ได้ก็คือ Job Description (JD) ของพนักงานทุกคนนั้นควรมีแค่อย่างเดียวก็คือ “ทำให้ทีมชนะ” ซึ่งทีมในที่นี้ก็คือบริษัทหรือตัวองค์กรนั่นเอง ในการแข่งขันฟุตบอลนั้น เป้าหมายหลักร่วมกันของทุกคนในทีมนั้นง่ายๆก็คือ เมื่อลงสู่สนามทีมต้องประสบความสำเร็จนั่นก็คือ ชัยชนะในเกมนั้นนั่นเอง เมื่อชนะหลายๆเกมได้ การเป็นแชมป์ตามที่ทุกคนคาดหวังก็ย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม

ในโลกการทำงานจริงนั้น เวลาเราติดป้ายรับสมัครงานและพิจารณาจัดสรรคนเข้าทำงานนั้น แต่ละคนก็จะพรรณนาถึงความสามารถของตนเองในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็น การเงิน ไอที การตลาด การขาย การออกแบบ เป็นต้น เพื่อให้องค์กรเห็นถึงศักยภาพของตนเองว่าเก่งพอที่จะเข้าทำงานในตำแหน่งนั้นๆ การมอง JD ในลักษณะนี้เป็นการมองโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ตามหากความสามารถที่เรามีนั้นไม่สามารถผลักดันให้องค์กร “ชนะ” ในสนามการแข่งขันได้ จะมีประโยชน์อะไรหากเราเก่งบัญชีแต่บริษัทยังขาดทุนอยู่ หรือเก่งการตลาดแต่แบรนด์ของบริษัทยังไม่เป็นที่ยอมรับ ความเก่งเหล่านี้ก็ไร้ความหมาย ฉะนั้นแล้ว JD ของทุกคนจึงควรมีแค่อย่างเดียวก็คือ “ทำให้องค์กรชนะ” ในสนามธุรกิจ

ข้อคิดที่ 2 ก็คือ ในความเป็นจริงไม่มีใครที่จะเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำทุกอย่าง แม้ว่าเราจะคิดว่าสิ่งนั้นถูกต้อง ลองจินตนาการสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสนามฟุตบอล หากเราเป็นกองกลางและมองไปในสนาม เราเห็นว่าหากเราจ่ายบอลไปให้กองหน้าฝั่งซ้ายนั้น โอกาสที่ทีมจะได้ประตูมีมากที่สุด เราก็ตัดสินใจเลือกที่จะจ่ายบอลไปทางนั้น อย่างไรก็ตามหากท้ายที่สุดกองหน้าฝั่งซ้ายไม่สามารถทำประตูได้ แน่นอนว่าสิ่งที่จะตามมาทันทีก็คือ คำตำหนิจากกองหน้าฝั่งขวาอีกคนที่จะมองว่าเราคือคนที่ทำผิดพลาดที่ไม่จ่ายบอลให้เขา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กองหน้าฝั่งขวาตำหนิกองกลางนั้นเป็นเพียงมุมที่เขาเห็นเท่านั้น ไม่ใช่มุมที่กองกลางที่ถูกตำหนิเห็น ในโลกของการทำงานจริงนั้น ทุกคนจะมีมุมมองเป็นของตนเอง ทุกคนจะตัดสินใจจากมุมที่ตนเองมองเห็นเท่านั้น ขณะที่ตัวผู้จัดการทีมนั้นจะอยู่ในจุดที่ต่างจากนักเตะ ผู้จัดการทีมสามารถที่จะมองสถานการณ์ทุกอย่างได้อย่างรอบด้านและเห็นจุดดีจุดด้อยได้รอบด้านกว่าคนในสนาม สิ่งที่ผู้จัดการทีมควรทำก็คือ วางแผนให้ทีมประสบชัยชนะ โดยต้องควบคุมให้ลูกทีมทำตามแผน ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งและการแข่งกันชิงดีชิงเด่นกันภายในทีม หากในสถานการณ์จริงผู้จัดการทีมคุมทีมไม่ได้ ซุป’ตาร์ดังของทีมก็อาจส่งอิทธิพลจนแผนชนะของทีมเสียทั้งหมด ฉะนั้นแล้วผู้จัดการทีมจึงต้องกำหนดบทบาทให้ลูกทีมทุกคนไปสู่ทิศทางที่ “เพิ่มโอกาสให้ทีมชนะ” มากที่สุดตามบทบาทของตนเอง

โดยสรุปแล้ว บทเรียนจากการคุมทีมฟุตบอลนั้นสามารถประยุกต์ใช้กับโลกการทำงานจริงที่ธุรกิจต้องบริหารองค์กรที่เต็มไปด้วยคนเก่งมากมาย ผู้บริหารที่ดีควรกำหนดเป้าหมายของส่วนงานต่างๆให้มุ่งสู่จุดหมายเดียวกันนั่นคือ “ชัยชนะ” ขององค์กรในสนามการแข่งขัน เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนทำงานอย่างมีเอกภาพและเกิดแรงจูงใจที่ชัดเจนในการทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องมองภาพรวมของสนามแข่งขันอย่างรอบด้าน สามารถบริหารให้คนในองค์กรทำงานตามแผนเพื่อสร้างโอกาสให้องค์กรถึงชัยชนะมากที่สุดโดยไม่เกิดข้อขัดแย้งหรือทำตามใจตนเองจนเสียงาน

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube
Drkessara: http://bit.ly/drkessara