เมื่อ Airbnb มา Disrupt ที่เมืองไทย

29 ต.ค. 2565

หลายๆ ท่านคงรู้จักและเคยได้ยินชื่อ Airbnb ซึ่งเป็นเวบไซต์ที่ให้บริการในการจับคู่หาห้องพักให้กับนักท่องเที่ยวที่มองหาห้องพักราคาถูกและเจ้าของห้องที่ต้องการหารายได้จากการปล่อยห้องตัวเองให้เช่าค่ะ สัปดาห์ที่ผ่านมาดิฉันได้มีโอกาสอ่านบทวิเคราะห์ของ Colliers International ถึงการเข้ามาของ Airbnb ในประเทศไทยและผลกระทบที่เกิดขึ้นค่ะ ปรากฏการณ์ Airbnb ในประเทศไทยส่งผลสะเทือนเป็นวงกว้างมากเพราะเกี่ยวพันกับเรื่องของสิทธิในที่อยู่อาศัยและธุรกิจโรงแรมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภาคการท่องเที่ยวที่ในแต่ละปีสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศไทยมหาศาลในแต่ละปีค่ะ บทความในวันนี้จึงอยากจะพูดในหลายๆมุมเพื่อให้เห็นผลกระทบจากการที่ Airbnbเข้ามา disrupt ธุรกิจโรงแรมบ้านเราและเราควรมีจุดยืนเช่นไรท่ามกลางปรากฏการณ์ Airbnbที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกค่ะ

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ได้เกิดกรณีที่สำนักงานที่ดินภูเก็ตได้ส่งหนังสือไปยังโครงการคอนโดมิเนียมทั่วทั้งภูเก็ตเพื่อเตือนว่า การที่เจ้าของห้องทำการปล่อยห้องเช่ารายวันนั้นขัดต่อ พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2547 เนื่องจากการปล่อยห้องเช่ารายวันนั้นต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมค่ะ การฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทกับเจ้าของห้องพักค่ะ นอกจากประเด็นเรื่องข้อกฎหมายแล้ว ทางสำนักงานที่ดินภูเก็ตยังอ้างถึงการที่เจ้าของห้องปล่อยห้องพักให้นักท่องเที่ยวเช่าแบบรายวันนั้นยังเป็นการรบกวนความสงบของผู้พักอาศัยรายอื่น อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและอาจนำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ค่ะ

ปฏิกิริยาของทางการบ้านเราต่อผู้ปล่อยห้องเช่าผ่าน Airbnbภูเก็ตสะท้อนหลายเรื่องด้วยกันค่ะ ด้านหนึ่งเราได้เห็นประเด็นด้านข้อกฎหมายบ้านเราที่ต้องรับมือกับปรากฏการณ์ disrupt จาก Airbnbนั้นเพียงพอหรือไม่ค่ะ ปรากฏการณ์ Airbnbนั้นไม่ได้กระทบเฉพาะธุรกิจโรงแรมโดยเฉพาะระดับ 2-3 ดาวที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจาก Airbnbเท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงการตีความในเรื่องของสิทธิและอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลของโครงการต่างๆที่ต้องจัดการเรื่องพื้นที่ส่วนกลางและความสงบเรียบร้อยในโครงการโดยรวมค่ะ ขณะที่เจ้าของห้องเองก็มีสิทธิในฐานะที่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ของตัวห้องเองที่สามารถหาประโยชน์สูงสุดจากห้อง แต่ก็จะมีคำถามถึงความรับผิดชอบในกรณีที่ผู้เข้ามาพักสร้างความเดือดร้อนรำคาญกับเจ้าของห้องรายอื่น, ความเสียหายต่อทรัพย์สินต่างๆในโครงการ และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกรณีเกิดความไม่ปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวที่มีพักค่ะ

ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจค่ะว่า ธุรกิจโรงแรมโดยทั่วไปนั้นจะมีการลงทุนด้านการบริกาต่างๆ เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของผู้เข้าพักค่ะ การที่มีการผุดขึ้นมากมายของห้องพักจาก Airbnb นั้นด้านหนึ่งแม้จะสร้างทางเลือกแก่นักท่องเที่ยวที่มองหาห้องราคาถูกใน location ที่ต้องการและสร้างรายได้ให้เจ้าของห้อง แต่อีกด้านนั้นฝั่งธุรกิจโรงแรมอาจจะมองถึงการเสียเปรียบในการแข่งขันที่ต้องเสียต้นทุนตรงนี้ ขณะที่เจ้าของห้องใน Airbnb ได้เปรียบจากการที่ส่วนกลางลงทุนเรื่องบริการให้ ขณะที่รัฐเองจะมองถึงการที่ขาดการกำกับดูแลในจุดนี้ ความปลอดภัยของชุมชนและตัวนักท่องเที่ยว รวมถึงเรื่องการสูญเสียรายได้ทางภาษีจากการที่เจ้าของห้องไม่ได้อยู่ในระบบใบอนุญาตค่ะ

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ถึงแง่มุมต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายมองเห็นและได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของ Airbnbในประเทศไทยซึ่งมีทั้งด้านบวกและลบค่ะ ประเด็นของ Airbnb นั้นเป็นปรากฏการณ์ในระดับโลกและในแต่ละประเทศก็มีการตอบสนองแตกต่างกันไปค่ะ ตั้งแต่มาตรการในเชิงส่งเสริมไปจนถึงการกีดกัน Airbnbออกไปจากพื้นที่ค่ะ ในส่วนของบ้านเราเองที่การท่องเที่ยวก็เป็นรายได้สำคัญและการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลนับวันจะแพร่หลายในทุกวงการ ดิฉันมองว่าเราควรจะกำหนดแนวทางในการบริหารเรื่อง Airbnb ที่คงไว้ซึ่งประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากทางเลือกใหม่ๆ และการแข่งขันที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจโรงแรมในภาพรวม ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องมีการตีกรอบที่ชัดเจนในแง่ของสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของเจ้าของห้องพักที่ปล่อยเช่ารายวันให้นักท่องเที่ยวและ Airbnb ว่าควรเป็นเช่นไรค่ะ ต้องมีการขึ้นทะเบียนหรือเสียภาษีอย่างไรค่ะ การปกป้องสิทธิของผู้อาศัยในโครงการและขอบข่ายหน้าที่ของนิติบุคคลค่ะ ทั้งนี้เพื่อความชัดเจนในการดำเนินงานของฝ่ายต่างๆ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยค่ะ