แก้ปัญหาหรือคิดปัญหา

04 พ.ย. 2565

สิ่งหนึ่งที่เราต้องเจอแน่ๆในการทำงานก็คือปัญหาค่ะ ในการทำงานทุกอย่างย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นเป็นปกติจากปัจจัยต่างๆทั้งจากปัจจัยภายในกระบวนการทำงานเองหรือปัจจัยภายนอกที่เหนือความควบคุมของเราค่ะ และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแน่นอนว่าก็ต้องตามมาด้วยการแก้ปัญหาให้ลุล่วงเพื่อขจัดอุปสรรคของงานและเดินหน้าให้งานบรรลุไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้

แต่ในโลกของการทำงานก็มีอีกวิธีการหนึ่งที่เราสามารถใช้จัดการกับปัญหาได้ค่ะ นั่นคือการคิดปัญหา การแก้ปัญหานั้นเป็นวิธีการที่เราจัดการกับปัญหาเมื่อปัญหานั้นเกิดขึ้นแล้ว ธรรมชาติของปัญหาในการทำงานนั้นเป็นอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางไม่ให้เราไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้ และในบางกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงถึงขั้นสร้างความเสียหายให้กับเนื้องานหรือองค์กรได้ค่ะ ดังนั้นแล้วการแก้ปัญหาบางอย่างนั้นก็เกิดขึ้นเพื่อบรรเทาหรือกอบกู้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภารกิจต่างๆ ขององค์กร อีกทั้งในระหว่างการแก้ปัญหาก็มีความเสี่ยงที่การแก้ปัญหาของเราอาจจะไม่ถูกต้องและกลับสร้างปัญหาใหม่ๆเพิ่มขึ้นไปอีกได้ค่ะ

ดังนั้นในเมื่อเราทราบว่าปัญหาเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์และอาจสร้างความเสียหายในอนาคตได้ สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ การคิดถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตค่ะ การคิดปัญหาหรือคิดถึงปัญหาเป็นการที่เรามานั่งขบคิดถึงอุปสรรคหรือความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจขัดขวางหรือทำให้เกิดความเสียหายต่องานนั้นๆ ได้ค่ะ โดยปกติแล้วดิฉันก็ชอบการทำงานในสไตล์การคิดปัญหาอยู่แล้วค่ะเพราะทำให้เรามองเห็นภาพการเดินทางของงานได้กว้างขึ้นทั้งในแง่ของการเดินไปตามปกติของงานและความเป็นไปได้ต่างๆที่จะเกิดอุปสรรคมาหรือปัญหาขัดขวางงานข้างหน้า

มื่อเราสามารถระบุได้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับงานได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มงาน เราก็จะสามารถทบทวนกระบวนการทำงานที่ออกแบบไว้ในตอนแรกให้มีความรัดกุมขึ้นและสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆได้ตั้งแต่แรกค่ะ ขณะเดียวกันบางปัญหาที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ตั้งแต่เริ่มแรก เราก็จะมีแนวทางการแก้ปัญหาและรับมือกับผลกระทบต่างๆไว้ตั้งแต่เริ่มต้นค่ะ ซึ่งนั่นจะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้นและจำกัดความเสียหายได้มากกว่าการไปแก้ปัญหาตอนที่มันเกิดขึ้นแล้วค่ะ

แม้แต่ในบุคคลระดับโลกเองอย่าง Andy Grove ผู้ก่อตั้ง Intel ก็มีวิธีจัดการกับปัญหาในลักษณะของการคิดปัญหาด้วยเช่นกันค่ะ โดยพวกเขาทำภายใต้หลักคิดเรื่อง paranoid ซึ่งหากแปลตามพจนานุกรมจะหมายถึงการหวาดระแวง แต่หากเราดูความหมายที่พวกเขาพยายามจะสื่อออกมาอย่างแท้จริงจะพบว่า การมีลักษณะ paranoid นั้นแท้จริงคือการเตรียมรับมือกับปัญหาล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่เกิดค่ะ โดย Andy Grove เองเคยเขียนหนังสือชื่อดังเพื่ออธิบายแนวคิดนี้เลยชื่อว่า Only Paranoid Surviveการ paranoid นั้นทำให้ผู้บริหารมีความตื่นตัวและคิดใคร่ครวญถึงการพัฒนาบริษัทอยู่ตลอดเวลาด้วยการขบคิดถึงปัญหาที่อาจมีผลต่อความอยู่รอดต่อบริษัทในอนาคตและระดมการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ตอนนี้ซึ่งนั่นก็จะเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆให้กับบริษัทไปในตัวด้วยค่ะ

โดยสรุปแล้วการจัดการกับปัญหาด้วยวิธีการคิดปัญหาแทนการแก้ปัญหาจะช่วยให้องค์กรสามารถเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้โดยที่สามารถหลบเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้แต่แรก ขณะเดียวกันแม้ปัญหานั้นจะไม่สามารถเลี่ยงได้บริษัทก็จะสามารถจำกัดผลกระทบจากปัญหานั้นได้อย่างทันท่วงทีและฟื้นตัวได้เร็วกว่า อีกทั้งการคิดถึงปัญหาแต่แรกก็จะนำมาสู่การพัฒนา Solution ใหม่ๆเพื่อให้บริษัทล้ำหน้ากว่าปัญหานั้นและเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆได้ก่อนคู่แข่งในอนาคตได้ด้วยค่ะ การคิดปัญหาจึงเป็นทั้งการคิดในเชิงตั้งรับที่สามารถเลี่ยงหรือจำกัดความเสียหายได้และเป็นการคิดในเชิงรุกที่ช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆให้บริษัทด้วยค่ะ
 

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube
Drkessara: http://bit.ly/drkessara