โซลาร์ประชาชนมาแล้ว

05 พ.ย. 2565

NOTE:

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวสำคัญที่เกิดขึ้นกับวงการพลังงานแสงอาทิตย์คือ กระทรวงพลังงานได้ประชุมชี้แจงกับผู้ประกอบการแผงโซลาร์ถึงการเตรียมความพร้อมตามแผนส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าระยะยาว 20 ปีฉบับใหม่หรือ พีดีพี 2018 ซึ่งกำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 12,725 มเกะวัตต์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ จากฟาร์มโซลาร์ลอยน้ำของกฟผ. 2,725 เมกะวัตต์ และจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปที่ได้จากหลังคาที่อยู่อาศัยหรือโซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของโซลาร์ภาคประชาชนนั้นจะรับซื้อจากบ้านที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้าประเภทที่ 1 คือบ้านที่อยู่อาศัยที่มีการติดตั้งน้อยกว่า 10 กิโลวัตต์ต่อมิเตอร์ โดยจะรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการบริโภคภายในครัวเรือนในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วยเป็นเวลา 10 ปี

เรื่องนี้ถือเป็นข่าวดีกับผู้ใช้ไฟภาคครัวเรือนที่จะมีโอกาสเข้าถึงการใช้พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนและประหยัดค่าไฟในระยะยาว อย่างไรก็ตามการที่เราจะสามารถเข้าถึงความคุ้มค่าในการใช้ไฟจากโซลาร์นั้น เราต้องพิจารณาว่า ต้นทุนการใช้แผงโซลาร์นั้นอยู่ในจุดที่เป็น Grid Parity หรือยัง โดย Grid Parity นั้นหมายถึง จุดที่ต้นทุนการซื้อไฟฟ้าจากผู้จำหน่ายไฟให้กับเรามีค่าเท่ากับต้นทุนของการที่เราสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยแหล่งพลังงานทดแทน ในกรณีของ Grid Parity ในประเทศไทยนั้นก็พูดง่ายๆว่า ต้นทุนค่าไฟที่เราซื้อจากการไฟฟ้านั้นเท่ากับต้นทุนไฟฟ้าที่เราผลิตจากแผงโซลาร์นั่นเอง ซึ่งในปัจจุบัน การผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์นั้นอยู่ในจุดที่คุ้มค่ากว่า Grid Parity แล้ว อย่างไรก็ตามการใช้ไฟจากโซลาร์ที่จะเข้าเงื่อนไขของ Grid Parity สำหรับครัวเรือนนั้น เจ้าของบ้านจะต้องมีการใช้ไฟฟ้าที่ต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาที่แผงโซลาร์ผลิตได้นั่นคือ 4 ชั่วโมงต่อวันในช่วงกลางวันซึ่งเป็นช่วงที่มีแดด การลงทุนติดแผงโซลาร์ถึงจะคุ้มค่า

แต่ในทางปฏิบัตินั้นลักษณะการอยู่อาศัยของบ้านโดยทั่วๆไปนั้นมักจะเป็นช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน เนื่องจากกิจกรรมในช่วงกลางวันของคนทั่วไปนั้นคือการออกไปทำงานหรือเรียนหนังสือนอกบ้าน ทำให้เจ้าของบ้านไม่มีโอกาสที่จะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์ได้ การที่จะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์ในช่วงกลางคืนได้นั้นก็ต้องอาศัยแบตเตอรี่เก็บไฟที่ผลิตได้ในตอนกลางวันมาใช้ในเวลากลางคืนแทน โดยในปัจจุบันนั้นราคาแบตเตอรี่ยังแพงอยู่ ทำให้การใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์ในครัวเรือนยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก

แต่การที่รัฐประกาศรับซื้อไฟฟ้าผลิตด้วยแผงโซลาร์จากภาคครัวเรือนนั้น เป็นการกระตุ้นให้คนมีแรงจูงใจให้ติดตั้งโซลาร์มาใช้ในครัวเรือนมากขึ้นเพราะไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้นั้นสามารถขายคืนรัฐเป็นรายได้กลับมายังเจ้าของบ้านได้ ขณะเดียวกันเมื่อคนมีแนวโน้มจะซื้อแผงโซลาร์มากขึ้นตามมาตรการของรัฐ ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ตลาดโซลาร์บ้านเราเติบโตได้เองในระยะยาวด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการที่จะเข้ามาพัฒนาและให้บริการแผงโซลาร์แบบครบวงจร เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค

ฉะนั้นแล้ว มาตรการอุดหนุนการซื้อไฟฟ้าจากแผงโซลาร์จากครัวเรือนหรือนโยบายโซลาร์ภาคประชาชนตามแผนพีดีพี 2018 นั้นถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อใช้ในบ้านตัวเองซึ่งจะได้ประโยชน์หลายต่อทั้งช่วยลดภาวะโลกร้อน การมีแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการซื้อไฟปกติ อีกทั้งความคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาวทั้งจากการขายไฟให้รัฐและต้นทุนค่าไฟต่อหน่วยที่ถูกกว่า ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการที่เตรียมขยายตลาดเข้าสู่ภาคครัวเรือนที่จะมีการเติบโตต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube
Drkessara: http://bit.ly/drkessara