ผิดมั้ย? เพื่อนร่วมคอนโด สูบบุหรี่ในคอนโดหรือที่ระเบียงห้อง แล้วเราทำอะไรได้บ้าง?

02 ธ.ค. 2565

เชื่อว่าชาวคอนโดหลายๆ คนต้องเคยเกิดคำถามนี้แน่ๆ ว่า “เวลาที่เราเจอหรือประสบภัยจากควันและกลิ่นบุหรี่ของเพื่อนร่วมคอนโด โดยเฉพาะควันและกลิ่นจากระเบียงลอยตามลมมา เราทำอะไรได้บ้างที่จะไม่ต้องทะเลาะผิดใจกับเพื่อนร่วมคอนโด”

 

"คำถามแรกที่ว่า “สูบบุหรี่ในคอนโด ผิดมั้ย?”  
คำตอบ คือ จาก พรบ.คุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ 2535 การสูบบุหรี่ภายในคอนโดที่ตัวเองอาศัยอยู่นั้น ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด …ปัญหาคือคนสูบมักจะไม่ได้สูบอยู่ในห้องตัวเอง แต่ออกมาสูบนอกระเบียง! ซึ่งระเบียงก็ยังถือเป็นพื้นที่ภายในที่อยู่อาศัยอยู่ดี

 คำถามต่อมา “ในเมื่อสูบบุหรี่ในคอนโดไม่ผิดกฎหมาย แล้วสรุปสูบได้มั้ย?” 
…ปัญหาคือคนสูบมักจะไม่ได้สูบอยู่ในห้องตัวเอง แต่ออกมาสูบนอกระเบียง!   
คำตอบ ถ้ายึดตาม พรบ. ก็ถือว่าไม่ผิด แต่อาจจะถือว่าผิดมารยาทในการอยู่ร่วมกัน เพราะเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อยู่ร่วมคอนโดท่านอื่นๆ ทั้งนี้ทางนิติบุคคลประจำคอนโดสามารถออกกฎเพื่อขอความร่วมมือให้ลูกบ้านไม่สูบบุหรี่ภายในพื้นที่ห้องพักอาศัยหมายรวมถึงระเบียงห้อง และควรออกกฎในเรื่องการห้ามทิ้งก้นบุหรี่ออกนอกระเบียงคอนโดด้วย เพราะอาจเป็นเหตุเพลิงไหม้ได้ พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษให้เป็นที่ยอมรับภายในคอนโด   

 คำถามสุดท้าย “ถ้าเราเป็นผู้ประสบภัยควันและกลิ่นบุหรี่รบกวน เราทำอะไรได้บ้าง?”
คำตอบ สิ่งที่เราทำได้มีหลายอย่าง แต่ต้องทำเป็นขั้นตอน เริ่มตั้งแต่...  
1. เช็กให้ชัวร์ว่ากลิ่นควันมาจากพิกัดห้องไหน ต้องมั่นใจว่าถูกห้องด้วย! แล้วค่อยแจ้งไปที่นิติฯ  
2. ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่นิติฯ ว่าเราได้รับผลกระทบอย่างไร นิติฯ จะเป็นตัวกลางดำเนินการจัดการแจ้งคู่กรณี ออกใบแจ้งเตือนหรือแจ้งปรับตามกฎอย่างไรก็ว่าไป  
3. แจ้งเป็นจดหมายขอความร่วมมือ อธิบายให้ทราบว่าเราได้รับผลกระทบอย่างไร หากวิธีนี้ไม่ได้รับการตอบรับที่ดี ก็อาจต้องพิจารณาทางสุดท้าย  
4. ถ้าไม่แคร์ความสัมพันธ์อันดีอะไรแล้ว ก็แจ้งความคือคำตอบสุดท้ายค่ะ แต่เราต้องมีหลักฐานเช่น ภาพหรือคลิป ที่แสดงให้เห็นว่า มีควันลอยมาถึงห้องเราจริงๆ เพราะเราสามารถแแจ้งความในเรื่อง “เหตุรำคาญ ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535” ได้ เป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงที่ได้รับความเดือดร้อนอันเป็นเหตุทำให้เสื่อมหรืออันตรายต่อสุขภาพ จาก กลิ่น แสง เสียง ความร้อน ฝุ่น หรือกรณีอื่นๆ ทั้งนี้ทางผู้ที่ได้รับความเสียหายต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าการสูบบุหรี่ดังกล่าวนั้นเป็น “เหตุรำคาญ” ถ้าพิสูจน์ได้ โดยผู้ที่ก่อเหตุรำคาญนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น การเห็นอกเห็นใจกัน การปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดในการอยู่ร่วมกัน เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรยึดถือ และสุดท้ายการประนีประนอมพูดจากันดีๆ ปรึกษาหารือหาทางออกร่วมกัน เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขนะคะ 😊