ระบบรางและไลฟ์สไตล์อนาคต

04 พ.ย. 2565

หากท่านผู้อ่านติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับพัฒนาการของระบบรางโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เราจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของอนาคตที่สะดวกสบายขึ้นเมื่อระบบรถไฟฟ้าทยอยให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯและพื้นที่ปริมณฑลมากขึ้นในช่วง 5-6 ปีข้างหน้านี้

โดยนับแต่การเปิดรถไฟฟ้าสายสีม่วงในปี 2559 เราก็จะเริ่มเห็นการทยอยเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าในสายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนต่อขยายของสายสีเขียว ช่วงแบริ่งสมุทรปราการในปลายปี 2561 ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ที่จะเปิดในปี 2562 และ 2563 สายสีเขียวช่วงคูคต-ห้าแยกลาดพร้าวที่จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2563 สายสีเหลืองและสายสีชมพูที่จะเปิดเดินรถในปี 2564 และสายสีส้มตะวันออกในปี 2566 ขณะเดียวกันเราก็เห็นความคืบหน้าในการประมูลส่วนต่อขยายเพิ่มเติมและโครงข่ายรถไฟฟ้าชานเมือง หรือสายสีแดงที่จะเข้ามาเติมเต็มระบบรถไฟฟ้าของรฟม. อีกแรงหนึ่งค่ะ

ลองนึกภาพที่เราไปยืนอยู่ในอนาคตช่วงตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป เราจะอยู่ในกรุงเทพฯ ที่มีความพร้อมด้านระบบรางที่ครอบคลุม และเชื่อมต่อกันมากขึ้น หากระบบรางที่เกิดขึ้นสามารถจูงใจให้คนมาใช้บริการได้มากในราคาที่เหมาะสม เราก็น่าจะเห็นคนใช้รถส่วนตัวน้อยลงและหันมาใช้ระบบรางมากขึ้น ภาพของถนนที่แออัดจะเปลี่ยนเป็นความคึกคักตามสถานีรถไฟฟ้าแทน ตรงนี้หากทำได้ระดับการพัฒนาของกรุงเทพฯ จะมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงญี่ปุ่นมากขึ้น

ทั้งนี้ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาดิฉันมีโอกาสไปดูงานที่ญี่ปุ่น สิ่งที่เห็นก็ คือคนที่นั่นใช้รถส่วนตัวกันน้อย แต่หันมาใช้ระบบรางกันเป็นหลักค่ะ นอกจากนั้นแล้วที่ญี่ปุ่นเองยังมีที่จอดรถน้อยมากด้วย เนื่องจากคนที่นั่นนอกจากจะเดินทางด้วยระบบรางแล้ว ยังนิยมแชร์การใช้รถส่วนตัวด้วยค่ะ
 

ฉะนั้นแล้ว เมื่อกรุงเทพฯ มีเส้นทางการพัฒนาที่เดินตามเมืองใหญ่ๆ ในญี่ปุ่น ขณะเดียวกันคนในรุ่นนี้ก็เติบโตและคุ้นชินกับเศรษฐกิจของการแชร์รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Uber หรือ Airbnb การแชร์รถยนต์ในกรุงเทพฯ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นในบ้านเราเช่นกัน

เมื่อคนหันมาใช้ระบบรางมากขึ้น ความจำเป็นในการใช้รถส่วนตัวในเมืองก็ย่อมลดลงตาม เมื่อการใช้รถส่วนตัวลดลง ความจำเป็นในการใช้ที่จอดรถก็ย่อมลดลงด้วย ผลก็คือการเติบโตของระบบรางจะส่งผลถึงโครงสร้างการใช้ประโยชน์จากที่ดินในอนาคตด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการจะมีพื้นที่ในการพัฒนาโครงการที่มียูนิตเพิ่มขึ้นได้โดยใช้เนื้อที่เท่าเดิม ทำให้การพัฒนาแต่ละโครงการมีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง ส่งผลให้ราคาต่อหน่วยลดลงหรือไม่สูงขึ้นมากนักค่ะ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทิศทางของผู้บริโภคในอนาคตจะโน้มเอียงไปในทิศทางที่จะใช้รถน้อยลงและอาจมีการแชร์รถและใช้ระบบรางมากขึ้น กระนั้นก็ตามผู้ประกอบการเองก็ยังต้องประสบกับข้อจำกัดจากฟากของกฎเกณฑ์ที่ยังบังคับให้ทุกโครงการต้องมีพื้นที่จอดรถขั้นต่ำ 20-30% ของเนื้อที่อยู่ ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการจะปรับตัวสนองตอบเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นจากระบบรางย่อมทำได้ไม่ง่ายค่ะ

ในอนาคตเมื่อสังคมกรุงเทพฯ และปริมณฑลเริ่มคุ้นชินกับการใช้ระบบรางเป็นหลักแทนรถยนต์ส่วนตัว สังคมจะเริ่มมีการถกเถียงถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเกิดความต้องการใหม่ๆขึ้นมาตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ดังนั้นแล้วฟากของผู้กำหนดกฎเกณฑ์จึงจำเป็นต้องปรับตัวโดยการผ่อนคลายและปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถขยับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคนหลังจากระบบรางในกรุงเทพฯมีการเปิดใช้งานอย่างเต็มที่

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube
Drkessara: http://bit.ly/drkessara