สังคม Prosumer

04 พ.ย. 2565

ปกติแล้วตั้งแต่เราเป็นเด็กจนกระทั่งโตมาทำงานไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรือมีธุรกิจส่วนตัว เราจะได้รับการปลูกฝังความคิดของการเป็นผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคสินค้าบางอย่างที่เราไม่สามารถผลิตเองได้ ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือ ไฟฟ้าและบริการทางการเงิน ในเรื่องของไฟฟ้านั้นชัดเจนมาก เราได้รับการบอกมาตลอดว่าหากเราต้องการใช้ไฟฟ้า เราก็ต้องไปติดต่อการไฟฟ้าฯให้ต่อไฟมาที่บ้านเรา การไฟฟ้าฯ เป็นผู้เดียวที่สามารถผลิตไฟฟ้าให้เราใช้ได้

ในส่วนของบริการทางการเงินนั้นยิ่งเป็นเรื่องใหญ่เพราะเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆที่เราหามาทั้งชีวิตและต้องเอาไปฝาก รวมถึงเรื่องการทำความฝันให้เป็นจริงไม่ว่าจะเป็นรถ บ้าน หรือเงินตั้งต้นกิจการ การฝากเงินหรือปล่อยกู้นั้นจำเป็นที่จะต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีเพื่อให้แบงก์สามารถปล่อยกู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเงินฝากจากปัญหาหนี้เสียที่สูงเกินที่จะจัดการได้ ฉะนั้นแล้วการที่คนธรรมดาจะมาปล่อยกู้แบบแบงก์นั้นไม่ง่ายเพราะต้องเผชิญข้อจำกัดในด้านเงินทุนและระบบบริหารความเสี่ยง ขณะเดียวกันหากเรามองภาพของธุรกิจไฟฟ้าและแบงก์จะพบว่าทั้ง 1 เรื่องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ รัฐเองจึงมีการออกกฎหมายมากำกับดูแลการดำเนินงานในกิจการทั้ง 2 เพื่อช่วยสกรีนคุณภาพผู้ประกอบการและคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบด้วย

แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากทำให้เกิดชนชั้นใหม่ทางสังคมที่เรียกว่า “Prosumer” ขึ้นมา โดย Prosumer นั้นมาจากคำว่า Consumer ที่แปลว่าผู้บริโภครวมกับคำว่า Producer ที่แปลว่าผู้ผลิต Prosumer ก็คือการที่ผู้บริโภคผันตัวเองจากการเป็นเพียงคนที่จ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการอยู่ฝ่ายเดียวมาเป็นทั้งผู้ที่ซื้อและผลิตสินค้าบางอย่างได้ในเวลาเดียวกันด้วย การมีเทคโนโลยีที่ถูกและประสิทธิภาพสูงช่วยทะลายข้อจำกัดในด้านการใช้เงินทุนมหาศาลในการเริ่มต้นกิจการบางอย่างออกไป ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือกรณีของกิจการไฟฟ้าและการปล่อยเงินกู้ เรื่องไฟฟ้านั้นด้วยเทคโนโลยีพลังงานทดแทนเช่น แผงโซลาร์รูฟท็อป ก็สามารถทำให้บ้านคนธรรมดากลายเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กได้ นอกจากนั้นหากเรามีไฟฟ้าเหลือจากที่ผลิตใช้เอง เราก็สามารถขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้านได้ผ่านสายไฟของหลวง ในต่างประเทศเองก็เริ่มมีการประยุกต์เอาโมเดล Prosumer ในเรื่องของไฟฟ้ามาทำในระดับชุมชนแล้วด้วย

ในส่วนของธุรกิจการปล่อยกู้นั้น ด้วยความก้าวหน้าในเรื่องของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เราสามารถทำให้งานการบริหารความเสี่ยงและสกรีนผู้กู้เป็นเรื่องง่ายขึ้น ทำให้เกิดแพลตฟอร์มการปล่อยกู้ในรูปแบบของ Peer to Peer Lending ที่รายย่อยสามารถปล่อยกู้กันเองโดยตรงแบบไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างแบงก์ได้แล้ว อีกทั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตและการใช้ app บนมือถือยังช่วยให้การปล่อยกู้และชำระเงินกู้ทำได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วด้วย

ในภาพรวมเราจะเห็นแนวโน้มของเทคโนโลยีที่จะช่วยทะลายกำแพงข้อจำกัดการทำธุรกิจดั้งเดิมที่เข้าถึงได้เฉพาะผู้ที่มีเงินทุนที่สูงกระจายมาสู่ผู้บริโภครายย่อยมากขึ้น ทำให้บทบาทของผู้บริโภคในอนาคตเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นแค่ผู้ที่ใช้บริการอยู่ฝ่ายเดียว กลายมาเป็นผู้ที่ใช้และผลิตสินค้าและบริการต่างๆได้มากขึ้นหรือเป็น Prosumer นั่นเอง ซึ่งในอนาคตคงไม่ได้จำกัดแค่ไฟฟ้าหรือแบงก์เท่านั้น ตรงนี้เองจะช่วยให้เกิดการแข่งขันและแบ่งปันการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้เกิดทางเลือกที่หลากหลายในตลาดมากขึ้น ฉะนั้นแล้วรัฐเองในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลต้องเข้าใจบริบทของธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนไปในอนาคต โดยโจทย์ก็คือทำอย่างไรที่เราจะสามารถทำให้สังคม Prosumer นั้นดำเนินไปโดยเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการในภาพรวม ขณะเดียวกันรัฐเองก็ต้องคิดหากลไกการคุ้มครองผู้ใช้บริการรูปแบบใหม่ที่ต้องจำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมทางตรงระหว่างผู้บริโภครายย่อยด้วยกันมากขึ้นในอนาคตด้วย

รวบรวมเนื้อหาสาระ ส่งมอบความสุข ความบันเทิง ให้เพลิดเพลินไปกับการอ่าน
Facebook: http://bit.ly/sena_facebook
Youtube: http://bit.ly/sena_youtube
Drkessara: http://bit.ly/drkessara